วันพุธที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

หาคำตอบแก้ปัญหาสังคมก้มหน้า

     สังคมก้มหน้ากำลังระบาดไปทั่วโลกเลยว่าไหมคะสังเกตเห็นได้ชัดเลยว่าคนสมัยนี้ไม่ว่าจะขึ้นรถนั่งกินอาหาร เดินตามท้องถนน หรือแม้แต่คุยกับเพื่อนที่นั่งอยู่ข้างกันแท้ๆ ก็ยังคุยผ่านหน้าจอสี่เหลี่ยม และกิจกรรมยอดฮิตของเด็กๆ วัยเรียน วัยรุ่นชาวออนไลน์ก็คือ การถ่ายรูปสารพัดสิ่งอัพลงเฟซ หรืออินสตาแกรม แล้วรอให้คนมากดไลค์นั่นเอง ซึ่งพฤติกรรมเช่นนี้ ทำให้หลายๆ คน มีปัญหาสุขภาพจิตตามมาอย่างคาดไม่ถึงเหมือนกัน
     ผลการศึกษาผลกระทบของอินเตอร์เน็ตต่อสุขภาพกาย และสุขภาพจิตของเด็กและเยาวชนไทย ชี้ชัดว่าเด็กและเยาวชนใช้อินเตอร์เน็ตเพื่อการบันเทิงมากที่สุด ขณะที่ผลกระทบด้านสังคม ไม่ค่อยรู้เรื่องภายนอก ไม่คุยกับคนรอบข้าง ซึมเศร้าอยู่แต่ในโลกความฝันของตัวเอง จากกรณีศึกษากรุงเทพมหานคร ร่วมกับสำนักทดสอบทางการศึกษาและจิตวิทยา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ โดยศึกษาพฤติกรรมการรับข้อมูลข่าวสารทางอินเตอร์เน็ตของเด็ก และเยาวชนทั้งด้านการศึกษา ด้านบันเทิง ด้านลบ และด้านธุระ/ซื้อขาย รวมถึงความสัมพันธ์ของผล ต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิต กับกลุ่มตัวอย่างเป็นเด็กและเยาวชนในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 1,584 คน ทำให้ทราบว่า
     สุขภาพจิตในทางบวก
ของเด็กและเยาวชนมากที่สุด ได้แก่ ทำให้มีเพื่อนใหม่เพิ่มขึ้น เข้าใจและพอใจกับชีวิตของตนเอง มีความสุขกับสิ่งที่ทำแต่ละวัน สามารถจัดการปัญหาต่างๆ ให้สำเร็จ มีความมุ่งมั่นในการทำภารกิจต่างๆ รู้สึกสนุก เพลิดเพลินใจ

    สุขภาพกายในทางลบ
ได้แก่ ทำให้อ่อนล้าสายตา สายตาสั้นลง ตาลาย เมื่อยแขน ปวดศีรษะ มึนศีรษะ ปวดก้นกบ หลัง ไหล่ กล้ามเนื้อมือและนิ้ว ร่างกายเมื่อยล้า อ่อนเพลีย ลืมเวลากินอาหารจนปวดท้อง เพลิน จนไม่ได้เข้าห้องน้ำ ทำให้มีผล ต่อระบบขับถ่าย
     สุขภาพจิตในทางลบ
ได้แก่ ทำให้รู้สึกเศร้าโดยไม่ทราบสาเหตุ ไม่สามารถควบคุมสภาพจิตใจตนเองได้ หงุดหงิดกังวลใจกับเรื่องเล็กน้อย ทำงานต่างๆ ที่ได้รับมอบหมายเสร็จไม่ทัน ความสัมพันธ์กับคนรอบข้างลดลง เบื่อหน่ายท้อแท้ กับการดำเนินชีวิต รวมไปถึงพฤติกรรม ที่กำลังเป็นที่พูดถึงกันอยู่ในขณะนี้คือ เซลฟี่ ขี้อิจฉา ซึมเศร้า
     เซลฟี ขี้อิจฉา ซึมเศร้าเซลฟี สามารถกัดกร่อนความมั่นใจ ความภาคภูมิใจในตัวเองได้ หากถ่ายรูปตัวเองเผยแพร่บนโลกออนไลน์เป็นบางโอกาส ถือเป็นการมีส่วนร่วมในสังคมออนไลน์ แต่หากมากไปและคาดหวังจดจ่อว่าจะมีใครเข้าดู เข้ามาแสดงความคิดเห็น แสดงว่าเซลฟีกำลังสร้างปัญหาและเป็นสัญญาณหนึ่งบอกถึงการขาดความมั่นใจในตัวเอง

     


     สุดท้ายผู้ใหญ่ควรดูแลแนะนำเรื่องเนื้อหาที่เหมาะสมบนโลกอินเตอร์เน็ตให้กับลูกๆ ให้รู้เนื้อหาไหนดีไม่ดี ควรและไม่ควรทำและต้องเรียนรู้ปรับเข้าหากิจกรรมทางสังคมออนไลน์กับลูกๆ เพื่อเรียนรู้พฤติกรรมและชี้นำคอยตักเตือนลูกๆ ด้วยไม่ให้ลูกหลงผิดจากโลกออนไลน์ ส่วนเด็กๆ วัยรุ่น ก็ควรแบ่งเวลาในการใช้อินเตอร์เน็ต สลับกับพบกับเพื่อนบนโลกแห่งความเป็นจริง รวมทั้งแบ่งเวลาให้กับการอ่านหนังสือการทบทวนเนื้อหาตำราด้วย ทั้งในหนังสือและเนื้อหาบนโลกอินเตอร์เน็ต วิธีนี้จะช่วยให้ผลการศึกษาที่ดีต่อลูกได้ด้วย

ที่มา : สำนักข่าวไทย / ผู้จัดการออนไลน์ / ฝ่ายสื่อสารองค์กรและเทคโนโลยี สถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น